ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาเรื้อรังที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน การพัฒนาประเทศมุ่งเน้นแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ทำให้เกิดช่องว่างความยากจนมากขึ้น ทำให้เกิดความอ่อนแอในสังคม เป็นเหตุให้ปัญหาต่างๆตามมามากมาย รัฐบาลมองเห็นขีดความสามารถและทักษะการทำงานของชาวบ้าน จึงกำหนดนโยบายกองทุนหมู่บ้านเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน โดยกระบวนการชุมชนมุ่งเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง และชุมชนที่เข้มแข็งให้ยั่งยืนต่อไป
กองทุนหมู่บ้านและชมชนเมือง
เป็นกองทุนที่เกิดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่หมู่บ้านและชุมชนเมืองตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายในหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ให้มีขีดความสามารถจัดระบบบริหารจัดการเงินทุนของตนเอง เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้าน ชุมชนในด้านการเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหา เสริมสร้างขีดความสามารถ และส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต หากรัฐบาลต้องการพัฒนากองทุนหมู่บ้านให้ไปสู่การเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้อย่างมั่นคง มีความจำเป็นที่รัฐบาลและสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล จักต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาในอีกหลายมิติ
นโยบายเร่งด่วนที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้น และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้การกินดีอยู่ดีของประชาชนทั้งประเทศดีขึ้น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองด้วยภูมิปัญญาของตนเองจากนั้นรัฐบาลจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝึกอบรมความรู้ในด้านต่างๆให้กับประชาชนในหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารการจัดการกับกองทุนที่ได้รับมานี้อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนต่อไป
ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้าน
1.เสริมสร้างความรัก หวงแหน ความรับผิดชอบของชุมชนและท้องถิ่น
2.ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้าน ชุมชน ด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง
3.เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน ชุมชน
4.เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ ภาคราชการ เอกชน และประชาสังคม
5.กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐานรากแก้วของชุมชน
6.เสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของหมู่บ้าน ชุมชน