“ชุมชน” คือ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน โดยมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งในแต่ละชุมชนจะมีลักษณะเฉพาะที่มีคุณค่าแตกต่างกันออกไป
ประชาชน ที่เกิด อาศัย และประกอบอาชีพอยู่ในชุมชนนั้นๆ ย่อมจะมีรู้สึกรักและหวงแหนในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ หากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับชุมชนที่พวกเขาเหล่านั้นอาศัยอยู่ การเปลี่ยนแปลงย่อมทำให้พวกเขารู้สึกวิตกต่อผลกระทบที่จะตามมา ผู้ที่อยู่ภายนอกไม่ว่าจะเป็นรัฐ หรือองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจต่อสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ โดยเฉพาะทุนทางสังคมไม่ว่าจะเป็นทางด้านรูปธรรม เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรบุคคล ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ หรือนามธรรม เช่น วัฒนธรรม ภาษาท้องถิ่น ทรัพย์สินทางปัญญา ค่านิยม การแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในชุมชน
ธุรกิจชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งในการยกระดับรายได้ ชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชนบทที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของประเทศ หากกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้มีรายได้สูงขึ้นจะส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยในการประกอบธุรกิจชุมชนควรมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเอง ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัตถุดิบในชุมชนโดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนได้คิดเอง วางแผน และตั้งเป้าหมายด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปากท้องของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และสามารถลดปัญหาการอพยพเข้าสู่เมืองเพื่อหางานทำ อีกทั้งเป็นการสร้าความเข้มแข็งของภาคชนบท กระบวนการจัดการศึกษาภูมิปัญญาและทรัพยากรภายในประเทศไทยสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทบนพื้นฐานของความเป็นไทย ด้วยภูมิปัญญาไทยที่ชานอื่นหรือชาติตะวันตกไม่มี พัฒนาเป็นจุดเด่นในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยการเริ่มต้นที่การสร้างฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มุ่งพัฒนาชุมชนชนบทให้สามารถพึ่งพาตนเอง มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ก่อให้เกิดสังคมที่เข้มแข็งบนพื้นฐานความเป็นไทย และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวเดินก้าวใหม่ของสังคมไทยที่จะเริ่มต้นเดินอีกครั้งด้วยความเข้มแข็ง และมั่นคง เพื่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยทุกคน อีกทั้งกระบวนการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นการเรียนรู้แบบอิสระ และเป็นวิธีการที่ต้องปลูกฝังให้เกิดกับผู้เรียนทุกคน โดยเป็นการเรียนรู้ และแสวงหาในเรื่องที่ตนเองสนใจ จากแหล่งความรู้ต่างๆและทำให้เกิดเป็นนิสัย เพื่อนำไปสู่การศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต