กระบวนการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

กระบวนการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาที่บุคคลได้รับความรู้ประสบการณ์ ได้เสริมสร้างเจตคติ ค่านิยม และทักษะต่างๆ จากครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม และจากประสบการณ์ในการดำรงชีวิตประจำวัน การได้รับความรู้อาจจะได้จากการพูดคุย สนทนา การสังเกต การเข้าร่วมในกิจกรรม การประกอบอาชีพการงาน โดยที่กิจกรรมเหล่านั้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นหรือมีการจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งทางการศึกษา แต่จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อื่น แต่กลับทำให้บุคคลได้รับความรู้โดยบังเอิญหรือโดยไม่ตั้งใจ เช่น การที่บุคคลไปเที่ยวสวนสาธารณะหรือสวนสัตว์แล้วบังเอิญได้รับความรู้เกี่ยวกับสัตว์และพรรณไม้ต่างๆ หรือเด็กๆ เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ จากการพูดคุยกับเพื่อนกับคนในครอบครัว ได้เรียนรู้การทำอาหาร การดูแลบ้านเรือนจากการสังเกต และการช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน หรือบุคคลอาจเรียนรู้เรื่องของธรรมชาติ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ จากการฟังเพลง หรือจากการชมภาพยนตร์ เป็นต้น จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากิจกรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ สวนสัตว์ การทำงานบ้าน เพลงภาพยนตร์ หรือสื่อมวลชน ชนิดอื่นๆ เหล่านั้นไปทำให้บุคคลเกิดความรู้ขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือโดยบังเอิญ การที่บุคคลได้รับความรู้โดยวิธีการดังกล่าวนี้เรียกว่า การศึกษาตามอัธยาศัยทั้งสิ้นเพราะเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากสื่อ จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญ คือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต

กิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกิจกรรมทางการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้ตามวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เรียนรู้จากประสบการณ์และสภาพแวดล้อมต่างๆ ในสังคม ซึ่งสามารถจำแนกกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดังนี้ การเรียนรู้จากห้องสมุดต่างๆ ในปัจจุบันห้องสมุดมีหลายประเภทด้วยกัน เช่น ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ห้องสมุดหน่วยงานเอกชน ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดวัด เป็นต้น

การเรียนรู้จากเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน เครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน ได้แก่ ศูนย์การเรียนชุมชนสถานีอนามัยตำบล สำนักงานเกษตรตำบล สำนักวิชาต่างๆ ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน รวมทั้งแหล่งความรู้ในชุมชนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น อุทยานมัจฉา สวนสมุนไพร เป็นต้น การเรียนรู้จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบริการอินเตอร์เนทชุมชน  จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน วิทยุสื่อสารชุมชน(CB) ห้องสมุดอิเลคทรอนิคส์และพัฒนา Website ข้อมูลชุมชน การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ประชุมทางไกลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ข้อมูลสารสนเทศท้องถิ่น เป็นต้น
– การเรียนรู้จากสื่อสารมวลชน เป็นการจัดการศึกษาที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วารสาร นิตยสาร จุลสาร โปสเตอร์ เป็นต้น
– การเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งประกอบด้วยภูมิปัญญาของผู้รู้ วัฒนธรรมและองค์ความรู้ของชุมชน ซึ่งได้รับการสั่งสมและการถ่ายทอดสืบต่อมา

การเรียนรู้จากสื่อพื้นบ้าน สื่อพื้นบ้านมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ คตินิยม ค่านิยม และคุณธรรมอันดีงามโดยผ่านการแสดงของตัวละครต่างๆ เช่น ลิเก หมอลำ หนังตะลุง มโนราห์ ลำตัด เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น

การเรียนรู้จากครอบครัว ครอบครัวจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ตั้งแต่เกิดที่จะสอนให้บุคคลมีแบบแผนในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของครอบครัวนั้นๆ นอกจากนั้น ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกาวิวัตน์ ครอบครัวจะต้องสอนให้เด็กรู้จักเลือกรับข่าวสารที่ดีที่สุด รู้จักการคิดและตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องมีเจตคติที่ดีทั้งต่อตนเองและสังคม โดยวิธีบอกเล่า สั่งสอน สาธิตให้ดู สร้างบรรยากาศภายในครอบครัวศึกษาดูงาน ท่องไปในโลกกว้าง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้ตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล ซึ่งเรียกว่าการเรียนรู้ตามอัธยาศัยนั้นบุคคลแต่ละคนจะเริ่มต้นเรียนรู้จากสังคมใกล้ตัวไปสู่สังคมภายนอก นับตั้งแต่สถาบันครอบครัว สื่อมวลชน แหล่งชุมชน แหล่งนันทนาการ สถาบันการศึกษา หน่วยงานบริการของรัฐ องค์กรเอกชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ การเรียนรู้ตามอัธยาศัยนี้จะเกิดขึ้นตลอดไปจนสิ้นอายุขัยของคนคนนั้น

This entry was posted in พื้นฐานทางการเงิน and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.