ชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ผู้ที่มีบุญคุณต่อคนไทยทุกคนที่ปลูกข้าวให้เราได้มีกินอย่างไม่อดอยาก แต่ทุกวันนี้ยังเห็นชาวนาออกมาประท้วงขอความเป็นธรรมอยู่ตลอด เพราะทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน แต่ไม่เคยลืมตาอ้าปากมีชีวิตที่สุขสบายอย่างอาชีพอื่นเขาเลย มิหนำซ้ำยังต้องเป็นหนี้สินชักหน้าไม่ถึงหลัง จนทำให้ลูกหลานชาวนาไม่มีคนไหนอยากจะสืบทอดอาชีพต่อจากบรรพบุรุษ เพราะมองไม่เห็นอนาคต อนาคตประเทศไทยอาจไม่มีผู้ทำหน้าที่เพาะปลูกข้าว จะก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และสูญเสียความเป็นผู้นำด้านข้าวของโลกในที่สุด
สำหรับกรอบแนวคิดที่สำคัญของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา นั้นมีอยู่ 5 แนวทางหลักด้วยกัน คือ
1.เป็นสวัสดิการเพื่อประโยชน์สำหรับสมาชิกที่ประกอบอาชีพทำนาโดยเฉพาะและมีรายได้แน่นอน
2.มีการเก็บเงินเข้ากองทุนโดยคำนวณจากฐานรายได้ของการจำหน่ายข้าวเปลือกในแต่ละปี
3.จัดให้มีสวัสดิการด้านอื่น ๆ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิตและอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบอาชีพทำนา
4.รัฐบาลสามารถพิจารณาเงินที่จะมาสมทบจากฐานภาษีรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว ซึ่งจะทำให้กองทุนมีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น
5.เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวนาเห็นว่าอาชีพทำนามี เกียรติศักดิ์ศรีและมั่นคง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรักและยึดถือการประกอบอาชีพทำนาต่อไป
กองทุนสวัสดิการชาวนาเปิดโอกาสให้เกษตรกรสมัครเป็นสมาชิกด้วยความสมัครใจ โดยมีข้อจำกัดขั้นสูงของพื้นที่นาเพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าว นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะชาวนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในกำหนดรูปแบบการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากกองทุน เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต เงินสงเคราะห์บุตร รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตโดยไม่ซ้ำซ้อนกับส่วนที่รัฐบาลจัดหาให้อยู่แล้ว เช่น ค่ารักษาพยาบาล พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งหาวิธีบริหารจัดการกองทุนสำหรับสมาชิกบางรายไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น โดยจะศึกษาข้อมูลการจัด ตั้งกองทุนสวัสดิการสำหรับเกษตรกรแยกออก จากสวัสดิการพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไปมาประกอบด้วย