แนวคิดการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเป็นยุทธศาสตร์หลักหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวอยู่หลายหน่วยงาน มุ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ให้กับวิสาหกิจชุมชน ผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะการผลิต การบริหารจัดการ และพัฒนาช่องทางการตลาด

n20150916171710_180798
แนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่ผ่านมาจึงเน้นกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ ในรูปแบบการฝึกอบรมและการให้คำปรึกษาแนะนำโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีความเชื่อว่ากระบวนการพัฒนาดังกล่าวจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ และการตลาด จนเป็นผลให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มตามตัวชึ้วัดการดำเนินงานของหน่วยงาน ความสำเร็จจากการดำเนินงานนับได้ว่าในมิติทางเศรษฐกิจ ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ การผลิตสินค้ามีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามด้านตัวผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการ และการตลาด ประสบความสำเร็จเพียงชั่วคราว ไม่ยั่งยืนและพึ่งตนเองไม่ได้ ความสำเร็จชั่วคราวเกิดจากการช่วยเหลือของที่ปรึกษาและวิทยากร เนื่องจากกลุ่มยังขาดความสามารถในด้านต่างๆ อย่างแท้จริง เช่น การแสวงหาข้อมูลเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการผลประโยชน์และการกระจายรายได้ภายในสมาชิกกลุ่มยังมีข้อสงสัยของโอกาสทางการตลาดและความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ ด้านมิติทางสังคม มีราษฎรเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากที่ประสบปัญหาการพัฒนาศักภาพและการปรับตัวในระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่เกื้อหนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากแนวทางการดำเนินงานไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่จะผสมผสานองค์ความรู้เดิม ภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในชุมชน ผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าวก่อให้เกิดผลดีและผลเสียต่อชุมชนในหลายกรณี โดยเฉพาะในระยะยาวจะเห็นรอยแตกร้าวที่เกิดจากการขัดแย้งทั้งในมิติทางเศรษฐศาสตร์และมิติทางสังคมกว้างขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มจากระหว่างปัจเจกชนพัฒนาสู่สถาบันครอบครัว และกระจายสู่องค์กรต่างๆ ในชุมชน กลุ่มที่มีฐานความสัมพันธ์ของสมาชิกไม่เข้มแข็งเพียงพอ ก็มักจะประสบความล่มสลายไปในที่สุด ด้านมิติทางสิ่งแวดล้อม ยังขาดการปลูกจิตสำนึกในการรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต เปลือกกล้วยที่เกิดจากกระบวนการผลิตกล้วยตากและกล้วยทอดเนย ที่สะสมจนเป็นแหล่งแพร่พันธุ์แมลงวันและเชื้อโรคต่างๆ น้ำทิ้งจากการผลิตกระดาษสาที่สะสมในดินช่วงฤดูแล้งรอการชะล้างในฤดูฝนไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องกลับมาทบทวนการคิดต้นทุนสินค้าที่รวมต้นทุนการกำจัดของเสียที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนไม่เป็นผู้สร้างปัญหามลภาวะและต้นเหตุของการเจ็บป่วยของราษฎรในชุมชน

This entry was posted in พื้นฐานทางการเงิน and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.